ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การประมง

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทางทะเลเสนอเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ส่งเสริมการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวประมงและประชาชนที่เกี่ยวข้อง

หลังจากผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้วขั้นตอนต่อไปจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนนำกลับเข้าสู่ ครม.อีกครั้งจากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ต่อไป

ฉบับเก่าไม่สอดคล้องจึงต้องเปลี่ยน

สืบเนื่องจากบทบัญญัติบางประการของ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก. การประมง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2560 ไม่สอดคล้องกับวิธีการทำประมงในประเทศ ส่งผลกระทบให้ชาวประมงบางส่วนต้องเลิกอาชีพทำการประมงไป อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพการทำประมง

จากการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง ครั้งที่ 3/2566 (15 ธ.ค. 66)ได้มีมติเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. แล้ว และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมประมงได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ

ร่าง พ.ร.บ. รวมทั้งได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

จากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พ.ย. 2562) และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว

ย้อนรอยเมษายน ปี พ.ศ. 2558 สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองประเทศไทย

สหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองแก่ไทยเมื่อปี 2558 เนื่องจากพบปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) นิยามที่องค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) บัญญัติขึ้นและใช้ควบคุม รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เร่งปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย และเริ่มต้นการปฏิรูปการประมงทั้งระบบ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการทำประมงอย่างยั่งยืน จนในที่สุด สหภาพยุโรปได้ประกาศยกเลิกใบเหลืองที่เคยให้กับไทย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562จากความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง จนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตและส่งออกสินค้าประมงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบันภาคประมงไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น กลุ่มอาเซียน และจีน

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองประเทศไทยเพื่อเป็นการเตือนอย่างเป็นทางการต่อกรณีที่ไทยไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในการทำประมงผิดกฎหมาย โดยสหภาพยุโรปประเมินว่า ไทยไม่มีระบบควบคุมการทำประมงที่ดีพอกฎหมายประมงของไทยล้าสมัย นับตั้งแต่ได้ใบเหลืองถือเป็นการปฏิรูปการประมงไทยครั้งยิ่งใหญ่โดยไทยดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปทุกด้าน คือ

•ปรับปรุงกรอบกฎหมาย

•การจัดทำแผนการบริหารจัดการประมงระดับชาติ

•การสร้างระบบควบคุมตรวจสอบ และติดตามการทำประมง

•การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

ตัวอย่างสาระสำคัญ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ แก้ปัญหาประมงพื้นบ้าน

•คำว่า"ประมงพื้นบ้าน" หมายความว่า การทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ ที่ไม่ใช่เป็นประมงพาณิชย์ (แก้ไขถ้อยคำเพื่อให้การทำประมงพื้นบ้านมีพื้นที่ทำการประมงไม่จำกัดอยู่เพียงในเขตทะเลชายฝั่งเท่านั้น)

•กำหนดให้มีการรวบรวมสถิติการประมงเป็นรายปี และเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อทราบ โดยจะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จและเผยแพรไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม ของปีถัดไป (เดิม ไม่ได้กำหนด)

•แก้ไขเพิ่มเติมคุณลักษณะผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมง ต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย (เดิมไม่ได้กำหนด)

•กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยในเขตทะเลหลวงต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมงหรือมีระบบสังเกตการณ์อื่นใด (e-observer) เพื่อรองรับเทคโนโลยีในอนาคต (เดิมกำหนดเพียงมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมง)

•กำหนดให้การดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมง (เดิม กำหนดห้ามดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงให้ผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต)

•แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทกำหนดโทษ เพื่อกำหนดโทษทางอาญาให้เหมาะสม เกิดความเป็นธรรม และได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด รวมทั้งกำหนดให้ยกเลิกการริบเรือประมงที่กระทำความผิดเพื่อให้ชาวประมงสามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงได้เมื่อพ้นระยะเวลาลงโทษ (เดิมกำหนดว่าเมื่อพบการกระทำความผิดร้ายแรงให้ริบเครื่องมือทำการประมง เรือประมง หรือสิ่งอื่นที่ใช้กระทำความผิด)

•กำหนดให้ผู้ใดทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่10 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 15 ตันกรอสและได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมง และได้รับอาชญาบัตรอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้สามารถโอนไปยังทายาทตามกฎหมายได้ (เพิ่มเติมเพื่อให้ใบอนุญาตของเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 15 ตันกรอสและได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมงสามารถโอนไปยังทายาทตามกฎหมายได้)


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar