พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์

ตั้งอยู่ที่ ต.ต้นโพธิ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กม. เดิมชื่อวัดบางมอญ  พระครูสิงหมุนี หรือ หลวงพ่อเรือง อดีตเจ้าอาวาสได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2399 เป็นแหล่งปั้นพระพุทธรูปที่สืบทอดวิชาปั้น พระพุทธรูปมาจากตระกูลช่าง บ้านช่างหล่อธนบุรี และยังเป็นแหล่งเก็บรวบรวมและจัดแสดงตัวหนังใหญ่ ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันมีตัวหนังใหญ่ที่สมบูรณ์และยังสามารถเล่นได้กว่า 300 ตัว ที่วัดยังคงสืบทอดการเชิดหนังให้แก่คนรุ่นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวที่ดินทางมาเป็นคณะ สามารถติดต่อขอชมการสาธิตเชิดหนังได้ แต่ต้องแจ้งล่วงหน้า

     หนังใหญ่เป็นการละเล่นเชิดตัวหนังที่ประกอบด้วยแสงเงาของไทยแต่โบราณ  ตามประวัติ กล่าวว่าการละเล่นนั้นมีมากว่าสองพันปีแล้ว ถือกำเนิดครั้งแรกในประเทศอินเดีย แล้วมาสู่อาณาจักรศรีวิชัย เรื่อยมาสู่อาณาจักรขอม จนกระทั่งเข้าสู่ประเทศไทยโดยพ่อค้าวานิช นักแสวงโชค และการเผยแผ่ศาสนา ที่นำศิลปะการแสดงและวัฒนธรรมแขนงนี้เข้ามาเผยแพร่ควบคู่กันไป แต่ก็ยังไม่แพร่หลายนัก ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ประมาณปีพ.ศ. 1901 หนังใหญ่ได้ปรากฏ อยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่า หนังใหญ่เป็นมหรสพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของชาติ โดยมีการแสดงหนังใหญ่ เฉลิมฉลองกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และมีการละเล่นสืบทอดเรื่อยมา แต่ส่วนใหญ่อยู่ใน พระบรมมหาราชวัง จัดเป็นมหรสพชั้นสูงของชาติ นิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกับการแสดงโขน

     หนังใหญ่ในจังหวัดสิงห์บุรี มีมากว่า 100 ปี  โดยมีครูเปีย นายหนังเร่จากพระนครศรีอยุธยา เข้ามาบุกเบิกการเชิดหนังใหญ่ขึ้นที่วัดสว่างอารมณ์เป็นคนแรก และได้ถ่ายทอดวิชาให้ศิษย์มากมาย ศิษย์คนสำคัญของท่านได้แก่ ขุนบางมอญ กิจประมวญ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้หนังใหญ่เจริญยิ่งในจังหวัด สิงห์บุรี ด้วยกรรมวิธีการแสดงที่สำคัญในทุกขั้นตอนและความยากในการฝึกหัด ทำให้การแสดงหนังใหญ่ ลดน้อยลงทุกขณะ ปัจจุบันประเทศไทยมีคณะหนังใหญ่อยู่เพียง 2 คณะเท่านั้น ที่มีความพร้อมใน การแสดง คือ หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรีและหนังใหญ่ที่วัดสว่างอารมณ์จังหวัดสิงห์บุรี

     พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๔๕ โดยใช้พื้นที่ชั้นบนของศาลาการเปรียญจัดแสดงตัวหนังใหญ่ โดยนำหนังใหญ่มาตรึงบนผืนผ้าขนาดใหญ่สีขาว ที่สร้างเป็นตู้ไม้พร้อมหลอดไฟส่องสว่างอยู่ภายใน เพื่อให้เห็นลวดลายของหนังใหญ่ได้ชัดเจนและสวยงาม
 

เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๗.๐๐ น.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 036-543-150


image รูปภาพ
image
image

image วิดีโอ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar